วิทู ประชานุรักษ์


ผู้อำนวยการบริษัท อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ จำกัด


            หากมีฝัน คุณจะมุ่งมั่นทำให้เป็นจริงหรือปล่อยวาง?


            แต่สำหรับ ทู-วิทู ประชานุรักษ์ แล้ว เขาตัดสินใจที่ลงมือทำในสิ่งที่รักเหล่านั้น ยิ่งเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว เขาพร้อมกระโจนไปกับมัน


            ที่ผ่านมาเห็นผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนด้าน Audio Engineering ที่ สถาบันเอสเออี กรุงเทพฯ (SAE Institute Bangkok) การเข้าทำงานฝ่ายดูแลห้องประชุมในแกรมมี่, ซาวด์ เอ็นจิเนียร์ ประจำศิลปินกลุ่ม เดอะ สตาร์ และ ก่อตั้งบริษัทของตัวเองในนาม-บริษัท วีทู อัลลิมิเต็ด พลัส จำกัด (V2 Unlimited Plus Co.,Ltd.) ที่พิสูจน์ฝีมือและนำความภาคภูมิใจมาสู่ครอบครัว


            และกระทั่งในวันนี้กับตำแหน่ง "ผู้อำนวยการ" บริษัท อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ จำกัด (Interstate Knowlegde Co.,Ltd.) "สื่อกลาง" ในการจัดอบรมสัมมนาความรู้ด้านระบบแสง เสียง และภาพ


            "ไม่ต้องรอให้ถึงอายุห้าสิบแล้วถึงลงมือทำ"      


            วิทู ย้ำถึงเหตุผลในการก้าวสู่อีกงานของชีวิตที่มุ่งมั่นตั้งใจมายาวนาน ในวันที่ "โอกาส" มาถึง และเขาเปิด "โอกาส" ให้ตัวเองได้ลงมือทำ


            ด้วยเชื่อมั่นว่า "การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด" หลังจากประเดิมด้วย สัมมนาแสงเสียงสัญจรกับนิตยสารซาวด์ ไดเมนชั่น ในวาระครบรอบ 5 ปี ใน 4 จังหวัดทั่วประเทศไปแล้ว ทางบริษัท อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ จำกัด จะเดินหน้าในการพัฒนาหลักสูตรด้านแสง เสียงและภาพเพื่อเติมเต็มความรู้ต่อไป


            "มีความสุขกับทุกอย่างที่ทำ" เป็นคติในการทำงานการใช้ชีวิตของวิทู และ บริษัท อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ จำกัด เป็นอีกงานที่ว่านั้น


 ก่อนอื่นถามถึงงานที่รับผิดชอบดูแลในปัจจุบัน?


            บริษัท วีทู อัลลิมิเต็ด พลัส จำกัด หรือเรียกง่ายๆ ว่า V2 หลักๆ ทำเรื่องเกี่ยวกับเสียง ภาพ และแสงไฟเวที ทั้งออกแบบติดตั้งระบบและจำหน่ายสินค้าแบรนด์นำเข้าจากบริษัทชั้นนำ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทชั้นนำเกือบทุกเจ้าและออกแบบติดตั้งระบบในงานทุกประเภท ทั้งห้องประชุม ผับ บาร์ และระบบเสียงตามสาย ผ่านเว็บไซต์ http://www.v2shop.net เป็นหน้าร้านสำหรับขายสินค้าและรับลูกค้า


            งานอีกด้านคือการทำเสียงที่เริ่มมานานร่วมสิบปีแล้วคือดูแลเรื่องเสียงให้ศิลปิน ลูกค้าหลักคือศิลปินของแกรมมี่ ในกลุ่มของเดอะสตาร์ – ฮั่น อิสริยะ, แกงส้ม ธนทัต, แก้ม วิชญาณี, เบล สุพล, แหนม รณเดช ฯลฯ ทำมาตลอดสิบปีที่ผ่านมาทั้งแบ็กกิ้งแทร็คและแบนด์ เวลาที่ไปออกงานโชว์ในกรุงเทพและต่างจังหวัดหรืองานจ้างอีเวนท์ผับบาร์ทั้งหลายเราก็ทำหน้าที่เหมือนซาวด์โอเปอเรเตอร์ให้ ทำกันมานานกับแกรมมี่แล้วเขาก็เรียกใช้ตลอดเวลาที่มีงานที่ต้องใช้ซาวด์แบบนี้ ศิลปินมีงานจ้างงานหนึ่งหรือว่าไปออกงานอีเวนท์เขาก็ต้องมีซาวด์เอ็นจิเนียร์ไปเปิดแบ็คกิ้งแทร็คและควบคุมเสียงให้หรือไปโชว์ตามผับที่เป็นวงดนตรี เขาก็ต้องมีซาวด์แมนที่ไปดูแล โดยไปใช้เครื่องเสียงของสถานที่ หรือเป็นอีเวนท์ก็ใช้เครื่องเช่าของที่งานที่เขาจัดไว้


 ยุ่งยากไหมในการทำงานกับศิลปินรุ่นใหม่?


            ไม่ยุ่งยากเลยครับ จริง ๆ อยู่ที่วิธีการสื่อสารมากกว่า เวลาไปแต่ตัวอย่างนี้ เราก็จะได้เจอเครื่องเช่าและออแกไนเซอร์ที่เปลี่ยนไปทุกๆ วัน ด้วย มันอยู่ที่ตัวเราไปปรับตัวให้เข้ากับเขา เมื่อเราไปใช้เครื่องของเขา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสื่อสารให้ดีให้เข้าใจ


            ส่วนการแบ่งเวลา เนื่องจากงานซาวด์ทำมานานกว่า ทำมาตั้งแต่อยู่บริษัทเดิม ก็ยังเป็นงานที่ยังทำอยู่ ส่วนธุรกิจ v2shop.net ก็มีทีมน้องๆ มาช่วยงานด้านรับลูกค้า, ฝ่ายขาย, และออกแบบ ส่วนตัวผมจะดูแลเรื่องการวางระบบเว็ปไซท์ การรีวิวผลิตภัณฑ์ การตลาดและการตลาดออนไลน์


 จุดเริ่มต้นของแนวคิด-ความตั้งใจในการแบ่งปันความรู้?


            ผมเริ่มเล่นดนตรีมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ทั้ง กีตาร์ เบส กลอง และร้องเพลง จนวันหนึ่งช่วงเรียนปีหนึ่งที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค (Computer Engineering) เราก็ศึกษาดนตรีไปเรื่อย ๆ จนเจอข้อมูลว่ามีการเรียนเกี่ยวกับซาวด์ เอ็นจิเนียร์อยู่ด้วย เราเห็นว่าน่าสนใจดี ก็เริ่มอ่านเองมาตั้งแต่ตอนนั้น แต่มันก็ยากอยู่ ประกอบกับยังไม่มีโอกาสรู้จักกับใครในวงการ จึงตั้งเป้าอยากจะไปต่างประเทศ เพื่อเรียนด้านนี้โดนเฉพาะ เพราะในเมืองไทยยังไม่มีการเรียนการสอนแบบนี้ในช่วงนั้น


จริง ๆ อยากจะลาออกตั้งแต่ปีหนึ่งด้วยซ้ำเพื่อที่จะไปเรียนด้านซาวด์เอ็นจิเนียร์ เพราะว่าเราชอบดนตรี ก็ทุ่มเท แต่ที่บ้านไม่ใช่ไม่เห็นด้วย เพราะจริงๆ คุณแม่สนับสนุนในทุก ๆ อย่างที่เราชอบ อย่างชอบดนตรีก็ส่งเรียน แต่เนื่องจากซาวด์เอ็นจิเนียร์เป็นอาชีพที่เขาไม่รู้จัก เขาก็ไม่รู้ว่าเรียนด้านนี้แล้วจะไปทำอะไรกิน จึงตัดสินใจเรียนวิศวะฯ ต่อไปให้จบก่อนและศึกษาช่องทางการไปเรียนต่อด้านนี้


            พอช่วงใกล้ ๆ เรียนจบก็รู้ว่ามี SAE มาเปิดในเมืองไทย โดย มหาจักรฯ เข้าทางเลย ไม่ต้องไปต่างประเทศแล้ว ก็เลยไปเรียนที่นั่น พอไปเรียนก็ยิ่งหลงรักเข้าไปใหญ่ เพราะเราเล่นดนตรีมา ก็รู้ว่าดนตรีเป็นศิลปะหรืองานสร้างสรรค์ กับวิศวกรรมที่เรียนมาคือทางวิทยาศาสตร์ ผมรู้สึกว่า ซาวด์ เอ็นจิเนียร์ อยู่ตรงกลางของทั้งสองอย่างนี้พอดี เพราะใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะในการที่จะมาประกอบร่างกัน เลยทำให้เราค้นพบเป้าหมายของชีวิตตั้งแต่ช่วงที่เรียน SAE เลย


            จากการเรียน SAE ที่มีการสอนเป็นเรื่องราว แต่ไม่มีเส้นทางอาชีพ เรารู้สึกว่าถ้ามีที่ให้เรียนแล้ว ก็บอกพ่อแม่ไม่ได้อยู่ดีว่าเรียนจบแล้วไปทำอะไร จึงตั้งใจอยากทำงานในวงการนี้ควบคู่กันไปกับการที่เราอยากให้คนได้เรียนในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหลายคนที่เรียนในรุ่นเดียวกันหรือใกล้ๆกันกับผมก็ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับวงการนี้เลยอยู่หลายคน ส่วนบางคนที่ทราบว่าผมเคยไปเรียนมาเขาก็ถามไถ่ด้วยความสนใจ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะสูงมาก หลายคนก็ถอดใจไปก็มีเหมือนกัน แล้วเป็นเรื่องจัดสรรเวลาด้วย เลยคิดว่าวันหนึ่งถ้ามีโอกาสอยากให้คนได้มีโอกาสเรียน และมีเส้นทางอาชีพที่แน่นอน โชคดีช่วงหนึ่งได้มีโอกาสรู้จักและทำงานกับพี่ป๊อก มิสเตอร์ทีม (สุทัศน์ ก่อเกียรติ) เราได้เจอกับตัวจริงในวงการและได้ทำงานกับคนที่มีความรู้จริง เลยทำให้เรื่องการแบ่งบันความรู้ที่คิดไว้นานแล้วกลับมาอีกครั้ง


            เดิมทีที่ผมฝันไว้ตั้งแต่ตอนสมัยเรียนคือ วางเป้าหมายไว้สักประมาณอายุสักห้าสิบ ให้เราทำงานจนมีประสบการณ์แล้วค่อยเปิดโรงเรียน ผมรู้สึกว่า ถ้าเรามีความรู้แต่ประสบการณ์ยังไม่พอ มันคงยังไม่ดีพอที่จะไปสอนใครได้ แต่พอได้มีโอกาสได้เจอพี่ป๊อกและทำงานกับพี่ๆ หลายท่าน จึงเริ่มเห็นว่าเป็นไปได้ และผมไม่ได้ตั้งใจว่าผมทำเพื่อให้ผมไปสอนคนอื่น ผมเองก็ยังอยากเรียนด้วยเหมือนกัน จึงเป็นโอกาสที่ดีของเราที่พี่ ๆ เขามาสอนด้วยและเราก็ได้เรียนไปด้วย


 ไม่ต้องรอให้ถึงห้าสิบแล้ว?


            ใช่ครับ ผมก็มีโอกาสได้คุยกับพี่ป๊อก ตอนนั้นไปทำงานกันที่เมืองจีน อยู่ดี ๆ ก็ยกประเด็นนี้มาคุยแล้วก็คลิกว่าทำสิ ลองดู เดี๋ยวมีอีกหลายคนที่พี่ป๊อกได้คุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี หนึ่งในนั้นก็มีพี่เฉลิมพล (ปทะวานิช บก.นิตยสาร ซาวด์ ไดเมนชั่น) ด้วยว่ามีความคิดคล้ายกัน ที่นอกจากทำหนังสือให้ความรู้คนที่อ่านแล้วก็อยากทำอบรมสัมมนาเพื่อแบ่งปันความรู้ด้วย กลับมาแล้วลองคุยกันดูว่าเป็นไปได้ไหม


            ทางซาวด์ ไดเมนชั่น เอง ก็จัดงานใหญ่มาแล้วสองครั้ง ทั้งสัมมนา Digital Audio Technology (DAT) และเรื่องพื้นฐานระบบแสงและไฟฟ้าในงานเวที ปีนี้ก็เป็นรอบที่จะจัดพอดี ด้วยวัตถุประสงค์ตรงกัน จึงมีโอกาสเข้าไปช่วยในกระบวนการจัดงานสัมมนาแสงเสียงสัญจรสี่ภาค ถือเป็นโอกาสเริ่มต้นของอินเตอร์สเตท โนเลดจ์ ในเรื่องนี้ขึ้นมา และถือเป็นโชคดีอีกเหมือนกันที่ทำให้ผมรู้จักพี่ๆ อีกหลายๆ ท่านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละท่านเป็นวิทยากรผู้รู้จริง และน่าจะเป็นส่วนสำคัญให้อินเตอร์สเตท โนเลดจ์เดินไปได้ในอนาคต


 อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ จะทำอะไรบ้าง?


            จากการเปิดตัวครั้งแรกที่เราได้จัดสัมมนาเรื่องแสงและเสียงในภาพใหญ่ แต่ละหัวข้อของแต่ละหัวเรื่องใหญ่สามารถนำมาขยายความและเรียนกันได้เป็นวันๆ เลย ผมแบ่งออกเป็น 4 เรื่องหลัก ๆ คือเรื่องเสียง แสงไฟเวที ไฟฟ้าสำหรับงานอีเว้นท์ และระบบภาพ เพราะในโปรดักชั่นอีเว้นท์ คอนเสิร์ต รายการโทรทัศน์ ละครเวที 4 อย่างนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น 4 หัวข้อนี้เป็นเรื่องหลักที่เราจะเริ่มทำงานจากตรงนี้เพื่อกระจายออกไป อาจจะเริ่มด้วยพื้นฐานของทั้ง 4 เรื่องก่อนแล้วค่อยๆ ขยายขั้นต่อๆ ไป   


            จากที่เราได้ไปมาเสียงสะท้อนที่กลับมา หลายเรื่องที่คนอยากรู้เฉพาะเจาะจงก็มี อย่างเรื่องไฟฟ้า เห็นได้ชัด มีคำถามมากมาย แต่ละที่เวลาแค่สอง-สามชั่วโมงยังไม่พอ เหตุที่เราจะแบ่งเป็นเรื่องไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่และเกี่ยวพันกับชีวิตของคนทำงานด้วย เนื่องจากอุปกรณ์ทั้งหมดใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาพ แสง เสียง เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ 4 แกนหลักน่าจะมีการทำเป็นคอร์สออกมาให้แอดวานซ์มากขึ้น โดยไล่เรียงมาตั้งแต่พื้นฐานจนถึงขั้นสูง และขั้นออกแบบ เนื่องจากแต่ละด้านมีความรู้เฉพาะเจาะจงไม่เหมือนกัน


 จากการเดินสายสัมมนาสัญจรที่ผ่านมา คิดว่าแนวโน้มการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?


            ผมว่าสมัยนี้การหาความรู้ง่ายขึ้นมาก แค่เปิดเข้าไปเซิร์ชเอ็นจินสักเรื่องก็ได้ความรู้มามากมายแล้ว เพียงแต่ต้องเลือกว่าเราอ่านจากที่ไหน เป็นแหล่งที่มาของข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น วิกิพีเดีย ก็เป็นสื่อกลางอันหนึ่งซึ่งมีมาตรฐานสามารถเข้าไปหาความรู้ คุณก็ได้ความรู้มารวดเร็วกว่าเมื่อก่อนที่คุณต้องเดินไปห้องสมุดเพื่อยืมหนังสือมาอ่านด้วยซ้ำ แล้วทุกวันนี้ทุกคนมีสมาร์ทโฟนด้วย ยิ่งง่ายมาก อยู่ที่พฤติกรรมเราว่าเราจะอ่านอะไร อ่านจากที่ใด ใช้ช่วงเวลาว่างในการศึกษาหาความรู้หรือไม่


การได้รับการถ่ายทอดจากผู้มีประสบการณ์ก็ถือเป็นการเรียนลัดที่ได้ประโยชน์มาก บางทีเราอ่านเองอาจจะไม่เข้าใจในบางประเด็น ยิ่งถ้าต้นทางเป็นภาษาอังกฤษแล้วเรายังไม่เข้าใจภาษาดีนัก อาจมีปัญหาในการอ่านเอง การได้มาเข้าฟังจากผู้รู้จริงและมีเอกสารสัมมนาที่นำไปศึกษาต่อยอดได้ ก็คิดว่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ


            สำหรับการสัมมนาทั้งสี่จังหวัดที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าเป็นบรรยากาศที่ดีและเป็นโอกาสที่ดีจริงๆ สำหรับผู้มาร่วมสัมมนาที่ได้มาฟังประสบการณ์การทำงานจริงจากพี่ ๆ เพราะประสบการณ์ 30-40 ปีของพี่ ๆ แต่ละท่าน เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น เราสามารถรู้ได้เลย เพราะพี่ๆ รุ่นนี้ทำมาแต่ต้น จนถึงวันนี้ มันได้ผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ เราเหมือนได้เรียนลัด ผมว่าเป็นเส้นทางลัดที่ดี ที่ต้องเลือกใช้เลย รถไม่ติดด้วย


            เราไม่ต้องไปลองในความเสียหายอย่างที่พี่ๆ ใช้คำว่า "พินาศ" คืออาจจะไม่ต้องไปเสียเวลากับตรงนั้น เราก็ทำสิ่งที่ถูกต้องเลย การลงทุนเราก็ไม่ต้องไปลงทุนซื้ออะไรที่ไม่ถูกต้องเพราะเราได้คำแนะนำมาแล้ว อันนั้นเคยลองอันนี้เคยทำมาแล้วไม่เวิร์กเป็นต้น เป็นวิธีการเรียนที่ชอตคัทมากๆ สำหรับคนในยุคใหม่ ถ้าเป็นสมัยก่อนจะไม่เป็นอย่างนี้ เท่าที่ได้คุยกันออดิโอสายไลฟ์หรือสตูดิโอในยุคก่อน พบว่าสกิลหลักที่ต้องเริ่มต้นในอาชีพนี้คือการชงกาแฟ คือต้องตามไปเพื่อขอความรู้ แล้วเมื่อก่อนก็ไม่มีใครมาเปิดแบบนี้เพราะต่างคนต่างทำงาน แต่วันนี้ พี่ๆ ที่มาเป็นวิทยากรเปิดเผยให้รู้ทั้งหมด ถ้าคุณรับได้เท่าไหร่ รับไปหมดเลย ผมถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ผมเองก็ชอบ เพราะทุกครั้งที่ไป ผมเองก็ได้รับความรู้ใหม่ๆ กลับมาด้วย เรียกว่าจัดไปก็ได้ความรู้ไปด้วย


จากจำนวนผู้ร่วมสัมมนาแต่ละจังหวัดมากน้อยต่างกัน ตรงนี้บั่นทอนกำลังใจหรือท้าทาย?


            ไม่เป็นเรื่องบั่นทอนเลยครับ แต่เป็นความท้าทายมากกว่า จริงๆ การประชาสัมพันธ์ของผมอาจไม่ดีพอในการให้ข้อมูล แล้วในแต่ละภาคมีวิธีการทำงานวิธีคิดไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการทำหัวข้อหนึ่งอาจจะไม่เหมาะกับสถานที่หนึ่ง ต่อไปจะมีการปรับให้เหมาะสม ตรงใจและตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น


            จะมีการออกแบบหลักสูตรพิเศษเฉพาะกลุ่มขึ้นมาด้วย เพราะวิธีคิดวิธีทำงานแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน ซัพพลายเออร์ในกลุ่มภาคเหนือก็มีวิธีการทำงานวิธีการลงทุนในสินค้าแบบหนึ่ง ทางอีสานก็แบบหรือ ทางใต้ก็อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีการออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่คนสนใจ และนำไปใช้ต่อยอดได้


            อย่างไรก็ตามจุดร่วมที่มีเหมือนกันคือ "พื้นฐาน" นี่แหละครับ ในเรื่องการอบรมพื้นฐาน ผมคิดว่ายังคงมีอยู่เพราะพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากทำให้การทำงานถูกต้องแล้ว พื้นฐานยังทำให้คุยกันรู้เรื่องมากขึ้นด้วย ระหว่างคนทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็นผู้จัด ออแกไนเซอร์ ซัพพลายเออร์และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


            จากที่ความเห็นของผู้มีประสบการณ์ ทุกคนพูดเหมือนกันว่า พื้นฐานคือสิ่งที่นำมาแก้ปัญหาให้คุณได้ทั้งหมด เทคนิคเฉพาะทางต่างๆ ช่วยได้ในบางงาน แต่ไม่ได้ทำให้คุณลงไปถึงแก่นปัญหาที่แท้จริง เพราะเคล็ดลับจริงๆ คือพื้นฐานนั่นเอง ถ้าคุณมีพื้นฐานที่แน่นเพียงพอ เวลาที่เจอปัญหา คุณก็จะรู้ว่าคุณจะต้องดัดแปลงยังไงได้บ้าง ซึ่งต่อไปในบางภาคอาจจะมีการปรับบางเรื่องบางหัวข้อให้เหมาะสมกับแต่ละที่


            ต่อความเห็นที่ว่าระยะเวลาสองวันน้อยไป ผมยอมรับว่าเนื้อหาเยอะจริงๆ วันนี้เหมือนเป็นการให้เห็นตัวตนของเรามากกว่าว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ต่อไปก็คงมีการกระจายแยกย่อยออกไป เพื่อให้เข้าถึงทุกคนและทุกกลุ่ม อาจจะเป็นกลุ่มเล็ก 20-50 คนในบางหัวข้อเพื่อให้ได้ประโยชน์กันเต็มๆ อาจจะจัดบ่อยขึ้น ก็เป็นแผนที่วางไว้ในอนาคต


            ส่วนวิทยากรทุกท่านที่ได้เจอในครั้งแรกนี้ เท่าที่สอบถามมา ก็น่าดีใจว่าทุกท่านพร้อมให้ความรู้ถ่ายทอดวิชากัน แต่ว่ายังมีอีกหลายๆ ท่านที่น่าจะเรียนเชิญเข้ามาเพิ่ม เพราะหลายๆ ท่านมีประสบการณ์มากมาย อย่างเรื่องระบบภาพ, สตูดิโอ, ไฟฟ้า รวมถึง อะคูสติกดีไซน์ ที่คิดว่าน่าจะลองทาบทามและเรียนเชิญเข้ามาเป็นวิทยากร


 เป้าหมายแท้จริงของอินเตอร์สเตท โนเลดจ์คืออะไร?


            อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ มุ่งหวังเป็น "สื่อกลาง" ในการเชื่อมโยงความรู้ไปถึงผู้ทำงานร่วมกันในวงการ เพื่อให้วงการเราพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เพราะว่ามันไม่มีใครเพียงคนเดียวหรือสองคนเปลี่ยนวงการได้ จะเปลี่ยนได้คือทุกคนที่ทำงานด้านเดียวกัน หรือว่าเป็นองค์ประกอบในงานของเราพัฒนาร่วมกัน แล้วเติบโตไปพร้อมๆ กัน


            อย่างที่เราเห็นในกรุงเทพฯ มีผู้จัดงาน ออแกไนเซอร์ มาร่วมฟังความรู้เชิงเทคนิค เรื่องเสียง เรื่องไฟฟ้าด้วย เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก แสดงว่าผู้จัดก็ให้ความสำคัญกับความรู้ด้านนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจจะยังไม่มีการอบรมในรูปแบบที่ชัดเจนอย่างนี้ เนื่องจากวิชาชีพเรายังไม่เป็นเหมือนทนายหรือบัญชี หรืออาชีพอื่นๆ ที่สอนในมหาวิทยาลัย มีก็เพิ่งเริ่ม เช่น สจล.หรือ ม.มหิดล เพราะฉะนั้นก็อยากเป็นสื่อกลางที่ส่งความรู้ให้ไปถึงพี่ๆ น้องๆ ในวงการที่ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัด ออแกไนเซอร์ ซัพพลายเออร์ และยูสเซอร์ทั้งหลายและผู้ที่ทำงานร่วมกันจะได้องค์ความรู้ไปเพื่อทำงานร่วมกันง่ายขึ้นและไปในทิศทางเดียวกันที่ถูกต้อง


 มองความสำเร็จของการสัมมนาครั้งแรก-ปีแรกนี้อย่างไรบ้าง?


            ผมยังไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จครับ ถือเป็นการเริ่มต้นมากกว่า เพราะว่ายังมีงานอีกเยอะที่ต้องทำกันต่อไป ดีใจนะครับที่พี่ๆ หลายท่านที่เข้ามาคุยด้วย หรือคุยฝากผ่านมากับอีกหลายท่านที่เป็นวิทยากร ทั้งแนะนำ และนำเสนอ หัวข้อที่จะจัดและวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ รวมถึงด้านสถานที่ที่จะใช้จัดหรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ที่เราต้องมีต้องใช้ในการพรีเซนเทชั่น ซึ่งผมก็ถือว่าผมโชคดีมาก ที่ได้ความเมตจากคนในวงการ รวมถึงสปอนเซอร์และบริษัทที่มาร่วมออกบูธในงานสัมมนา ถือว่าเป็นก้าวแรกที่อบอุ่นมาก


 ที่ผ่านมามีการทำงานอย่างเป็นระบบมาก พอจะคำแนะนำในการฝึกการทำงานอย่างเป็นระบบอย่างไรบ้าง?


            แค่คิดให้เยอะ ผมรู้สึกว่าถ้าผมคิดน้อย จะเป็นภาระกับคนอื่น ผมเองก็ยังไม่เป๊ะทุกเรื่อง ยังมีประสบการณ์น้อย เลยรู้ว่ายิ่งมีประสบการณ์น้อยก็ต้องยิ่งคิดล่วงหน้าไปให้เยอะๆ เพื่อให้คนที่มาทำงานกับผม ไม่ลำบาก ผมไม่อยากให้ใครติดปัญหาเพราะผมทำให้ไม่สำเร็จหรือว่า คิดให้ไม่รอบคอบไม่รอบด้าน ก็พยายามทำตรงนั้นให้ดี


            สำหรับตัวเองคิดว่า ความเครียดไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้จิตเราว่างและนิ่ง เราน่าจะทำประโยชน์ได้เยอะกว่านั้น เพราะพอเราไปเก็บไว้หรือเราพยายาทำทุกอย่างแล้วโอเวอร์โหลด คือคนเรามีศักยภาพเท่านั้น ร่างกายเราได้ประมาณนี้ เวลาก็มีเท่ากันทุกคน มันสุดท้ายได้แค่นั้น ก็ต้องได้แค่นั้นแล้วก็ต้องไปแบบหาทางแก้ไขเฉพาะหน้าถ้าทำไม่ทันจริงๆ ก็พุทธศาสนาคือต้องปล่อยวางให้ได้ ในที่นี้หมายถึงเราได้ทำมาเต็มที่แล้วนะ


            อีกอย่างผมไม่เอาทุกข์คนอื่นมาแบกไว้ เพราะมันไม่มีประโยชน์ ถ้าใครมีปัญหามาเล่าให้ผมฟัง ผมก็ฟังได้ มีอะไรที่ช่วยเหลือได้ก็เต็มที่ แต่จะไม่แบกเรื่องของคนอื่นมาไว้ที่เรา เพราะสุดท้ายคนที่ต้องผ่านปัญหาไปให้ได้ก็คือตัวเองอยู่ดี “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” คือผมแบกไว้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรอยู่ดี ยิ่งจะพาให้ทุกข์ยิ่งขึ้นไปทั้งคู่ ผมทำตัวเองให้ปลอดโปร่งแล้วมีอะไรบวกๆ กลับไปให้ดีกว่า เหมือนสร้างตัวเองให้เป็นประจุบวกไว้ ใครที่มาก็อยากให้ได้รับพลังบวกกลับไป เพราะว่าเรื่องลบมันง่ายและมันเยอะ เลยพยายามที่จะทำตัวให้เป็นประจุบวกเข้าไว้ เท่าที่จะทำได้


 ท้ายที่สุดนี้ฝากถึงผู้สนใจติดตามอินเตอร์สเตท โนเลดจ์อย่างไรบ้าง?


            สำหรับสัมมนาครั้งแรก-ปีแรกนี้ ผมขอขอบคุณนิตยสารที่ให้อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ ได้เข้ามาทำงานร่วมเป็นโปรเจ็กต์แรกในโอกาสก้าวสู่วาระห้าปีซาวด์ ไดเมนชั่น แล้วเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเชิญวิทยากรหลาย ๆ ท่านเข้ามาทำให้ อินเตอร์สเตท โนเลดจ์ ได้รู้จัก และสามารถต่อยอดงานไปได้และคงมีโอกาสทำงานคู่ขนานกันไปอีกเยอะ ๆ


            ขอบคุณ บริษัท ฟิวชั่น ฟาร์ อิสท์ จำกัด ที่เป็นผู้สนับสนุนหลัก และให้อุปกรณ์ที่นำไปในงาน บริษัท ไลท์ซอร์ส จำกัด ที่ให้เงินสนับสนุนและรวมเดินทางด้วยกันทั้งสี่ภาค ตลอดจนบริษัทที่มาร่วมเปิดบูธในงานสัมมนาปีแรกนี้อย่างมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ ๆ วิทยากรทุกท่านที่ได้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ หลังจากที่มีโอกาสได้คุยกับพี่ๆ แต่ละท่านแล้ว คงจะมีคอร์สใหม่ๆ สำหรับทุกๆ ท่านออกมา ก็หวังว่าในเร็วๆ นี้ก็คงจะได้เจอพี่ๆ น้องๆ ในงานสัมมนาเรื่องถัดๆ ไป


            ถึงแม้ งานอบรมสัมมนาในนาม "อินเตอร์สเตท โนเลดจ์" เป็นงานใหม่ก็จริง ผมตั้งใจทำเต็มที่ อะไรก็ตามที่ผมทำ ผมทำสุดแรงทั้งหมดเท่าที่ผมมีอยู่แล้ว และผมก็คิดว่าน่าจะไปได้ดี ผมเชื่ออย่างนี้ครับว่า อะไรที่เราตั้งใจกับมันที่สุดแล้ว ถึงแม้บางทีโอกาสอาจจะยังไม่เอื้ออำนวย แต่ถ้าเราไม่ท้อถอยและทำสุดแรง โดยไม่คาดหวังอะไรกับมันมาก ผมจะไม่รู้สึกว่าผมล้มเหลว ซึ่งคำว่า "ไม่คาดหวัง" ในที่นี้ไม่ใช่การอยู่เรื่อย ๆ ไปวันๆ แต่ในความหมายของผม คำว่า "ไม่คาดหวัง" คือ การทำให้ดีที่สุด หากยังทำไม่สำเร็จ ผมก็จะทำต่อไป จนกว่ามันจะสำเร็จให้ได้


ที่มา : นิตยสารซาวด์ไดแมนชั่น เล่มที่ 54


 

ความคิดเห็น

  • XEvilBestunjut
    Incredible update of captcha recognition package "XEvil 4.0": captcha solution of Google (ReCaptcha-2 and ReCaptcha-3), Facebook, BitFinex, Bing, Hotmail, SolveMedia, Yandex, and more than 8400 another size-types of captcha, with highest precision (80..100%) and highest speed (100 img per second). You can use XEvil 4.0 with any most popular SEO/SMM programms: iMacros, XRumer, GSA SER, ZennoPoster, Srapebox, Senuke, and more than 100 of other programms. Interested? There are a lot of impessive videos about XEvil in YouTube. FREE DEMO AVAILABLE! Good luck!

แสดงความคิดเห็น

comments-form-wrapper clearfix